น้ำตาล
ผลิตน้ำตาลเพื่อพลังงานของมนุษย์
กลุ่มบริษัท น้ำตาลขอนแก่น หรือ KSL Group เป็นกลุ่มบริษัทน้ำตาลในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองระบบบริหารจัดการคุณภาพตาม มาตรฐาน SQF 2000, มาตรฐาน ISO 9001 Version 2000 รวมทั้ง มาตรฐานระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม หรือ HACCP
โดยน้ำตาลทรายที่กลุ่มบริษัทผลิต สามารถจำแนกได้ตามประเภทและความบริสุทธิ์ของน้ำตาล ดังนี้
น้ำตาลค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ
(Low GI Sugar)
น้ำตาลทรายสีทองจากอ้อยธรรมชาติ ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า 55 เมื่อบริโภคเข้าไปในร่างกายระดับน้ำตาลในเลือดจะไม่พุ่งสูงเมื่อเทียบกับน้ำตาลทั่วไป แต่ยังให้รสชาติที่ดีของน้ำตาลอ้อย ผลิตภายใต้สิทธิบัตร Nucane จากประเทศออสเตรเลีย ทางเลือกใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Kane's ผ่านช่องทางออนไลน์และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
น้ำตาลทรายดิบคุณภาพสูง
เป็นน้ำตาลทรายมีค่าสีอยู่ระหว่าง 1,000 - 1,500 ICUMSA สามารถนำไปบริโภคได้โดยตรง การขนส่งนิยมบรรจุเป็นกระสอบ ราคาจะถูกกว่าน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
น้ำตาลทรายดิบ
เป็นน้ำตาลทรายมีค่าสีสูงกว่า 1,500 ICUMSA สีจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีสิ่งสกปรกเจือปนสูง ความบริสุทธิ์ต่ำ การขนถ่ายจะขนถ่ายในลักษณะเป็น BULK ไม่ได้ใส่ในกระสอบ น้ำตาลชนิดนี้ไม่สามารถนำไปบริโภคโดยตรงได้ ผู้ซื้อจะต้องนำน้ำตาลไปผ่านกระบวนการรีไฟน์หรือทำให้บริสุทธิ์ก่อนเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
เป็นน้ำตาลทรายมีค่าสีไม่เกิน 45 ICUMSA มีลักษณะเด่น คือ มีความบริสุทธิ์สูง เป็นน้ำตาลที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำตาลที่มีความบริสุทธิ์มาก เช่น อุตสาหกรรมยา เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
น้ำตาลทรายขาว
เป็นน้ำตาลทรายมีค่าสีประมาณ 46 – 200 ICUMSA มีค่าโพลาไรเซชั่นไม่น้อยกว่า 99.50 ดีกรี น้ำตาลประเภทนี้โดยทั่วไปเป็นน้ำตาลทรายที่ประชาชนนิยมบริโภค รวมถึงใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการความบริสุทธิ์ปานกลาง
กากน้ำตาล
กากน้ำตาล จัดเป็นผลผลิตพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายที่ยังมีมูลค่าโดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบของสารต่างๆ คือ น้ำ 20% น้ำตาลซูโครส 30% น้ำตาลอินเวอร์ท 32% อินทรีย์สารซึ่งไม่ใช่น้ำตาล 12% และ เถ้า 6% และในปริมาณอ้อย 1 ตัน โรงงานน้ำตาลจะได้ผลผลิตกากน้ำตาลประมาณ 45 - 50 กิโลกรัม ดังนั้นผลผลิตกากน้ำตาลในแต่ละปีจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงาน้ำตาลในแต่ละปี กากน้ำตาลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมชีวเคมี (Biochemistry Industry) ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตแอลกอฮอล์และโรงต้มกลั่นสุรา อุตสาหกรรมผลิตยีสต์ อุตสาหกรรมผลิตผงชูรส อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (โดยผสมกับมันสำปะหลังและชานอ้อย) อุตสาหกรรมผลิตน้ำส้มสายชู อุตสาหกรรมผลิตซีอิ๊วและซอสปรุงรสต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำของการผลิตน้ำตาล
กากอ้อย
เป็นส่วนของชานอ้อยที่ได้จากกระบวนการหีบอ้อยจากชุดลูกหีบชุดสุดท้าย โดยปัจจุบัน บริษัทใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล และจำหน่ายไฟฟ้าบางส่วนให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
กากหม้อกรอง
กากหม้อกรอง เป็นกากที่ได้จากกระบวนการกรองตะกอนในระบบสูญญากาศ กากหม้อกรองที่ได้สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเพื่อการเกษตรทั่วไป ในอดีตบริษัทให้กากหม้อกรองดังกล่าวแก่ชาวไร่อ้อยที่นำอ้อยมาส่งโรงงานเพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตปลูกอ้อยในพื้นที่ใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่บริษัทย่อยเริ่มดำเนินกิจการผลิตแอลกอฮอล์และสารเคมีต่อเนื่อง น้ำเสียที่ได้จากโรงงานจะสามารถนำไปผสมกับกากหม้อกรอง ผ่านกระบวนการย่อยสลาย (BIODECOMPOSE) ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพเหมาะสมแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งจะทำให้เกิดการทำธุรกิจที่ครบวงจร
น้ำเชื่อม
เป็นน้ำตาลที่ได้จากการแปรสภาพของผลึกน้ำตาล เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีค่าสีไม่เกิน 35 ICUMSA และมีความเข้มข้นประมาณ 66.5 - 67.50% มีลักษณะเด่นคือมีความบริสุทธิ์สูง เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อความสะดวกในกระบวนการผลิต เช่น เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
น้ำตาล | เอทานอล | ไฟฟ้า | ปุ๋ยอินทรีย์ | ธุรกิจสนับสนุน