KSL ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จของการสนับสนุนงานวิจัย ยีสต์สายพันธุ์ มข.
3 พ.ค. 2559
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 4 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณพรศิลป์ แต้มศิริชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด ในเครือ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จของการสนับสนุนงานวิจัยเรื่อง ยีสต์สายพันธุ์ มข. ที่ผลิตเอทานอลได้ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ นิภา มิลินทวิสมัย และคณะนักวิจัย จากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ยีสต์สายพันธุ์ใหม่นี้พัฒนามาจากสปีชีส์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Saccharomyces cerevisiae หรือ แซคคาโรไมซิส ซิริวิซิอี ได้รับการขึ้นทะเบียนเชื้อจุลชีพโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้ชื่อว่า Saccharomyces cerevisiae KKU 6M4.1 หรือเรียกว่า ยีสต์สายพันธุ์ มข. ซึ่งมีคุณสมบัติในการผลิตเอทานอลได้สูง เจริญได้อย่างรวดเร็ว เจริญดีในอาหารที่ใช้เลี้ยงยีสต์ที่มีสภาพความเป็นกรดด่างในช่วงกว้าง (ค่า pH 5-8) และยังสามารถทนต่อไบโอไซด์ซึ่งเป็นสารที่ใช้ยับยั้งจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตน้ำตาลและปนมากับกากน้ำตาลหรือโมลาสที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล
บริษัทขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด ได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนงานวิจัยของศาสตราจารย์ นิภา มิลินทวิสมัย และคณะเป็นอย่างดี โดยให้ทีมนักวิจัยทำการศึกษาและทดสอบยีสต์สายพันธุ์ มข. ในระดับอุตสาหกรรมในโรงงานของบริษัทฯ ภายใต้ข้อตกลงการใช้ตัวอย่างวัตถุจากงานวิจัย หรือ MTA (Material Transfer Agreement) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งผลการศึกษาในระดับโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ายีสต์สายพันธุ์นี้มีประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลสูงกว่ายีสต์ที่โรงงานใช้อยู่เดิม โดยคำนวณตั้งแต่กระบวนการใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ การผลิตเชื้อยีสต์ และกระบวนการหมักจนถึงกระบวนการกลั่นเอทานอล ได้ประสิทธิภาพผลผลิตหรือ % yield efficiency สูงกว่าประมาณ 6.4 เปอร์เซ็นต์ จากกำลังการผลิตของโรงงาน 150,000 ลิตรต่อวัน
นอกจากประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลจะสูงกว่าแล้ว ยีสต์สายพันธุ์ มข.ยังไม่จำเป็นต้องใช้กรดซัลฟูลิคในการปรับค่าความเป็นกรดด่างในอาหารที่ใช้เลี้ยงเชื้อและกระบวนการหมักเลย เนื่องจากยีสต์สายพันธุ์ มข. มีความสามารถเจริญได้ดีในอาหารที่มีช่วงความเป็นกรดด่างกว้างมากกว่ายีสต์ที่โรงงานใช้อยู่เดิม ซึ่งต้องการสภาวะความเป็นกรดด่างในระดับค่อนข้างคงที่ที่เหมาะสม ทำให้ต้องเติมกรดซัลฟูลิคเพื่อปรับระดับความเป็นกรดด่างปริมาณกว่า 120 กิโลกรัมต่อวัน ดังนั้นการใช้ยีสต์สายพันธุ์ มข.ในกระบวนการผลิตเอทานอลจึงเป็นการลดการใช้สารเคมีทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทั้งนี้ทางบริษัทฯจะให้การสนับสนุนการวิจัยต่อไปเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยีตส์สายพันธุ์ มข.ภายใต้สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงในช่วงฤดูร้อนที่อาจส่งผลต่อระบบควบคุมอุณหภูมิให้มีความเหมาะสม ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเอทาอลลดลงได้ แต่จากรายงานผลการผลิตเอทานอลของโรงงานปรากฏว่าระดับการผลิตคงที่ จึงเชื่อมั่นว่ายีตส์ที่ถูกค้นพบสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้
ความสำเร็จของงานวิจัยยีสต์สายพันธุ์ มข. มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลในประเทศไทยเป็นอย่างมาก นอกจากจะให้ได้ประสิทธิภาพผลผลิตที่สูงขึ้นกว่าการใช้ยีสต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนในการผลิตเนื่องจากทำให้ระบบการผลิตเอทานอลคงที่ ไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อนและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กรดซัลฟูลิคในกระบวนการผลิตอีกต่อไป บริษัทฯมีความยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนความสำเร็จของคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้
ที่มา: มหาวิทยาลัยขอนแก่น